“ยะลา” จังหวัดผังเมืองสวย อันดับ 1 ของไทย อันดับ 23 ของโลก
“ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” บ่งบอกถึงความเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลาได้เป็นอย่างดี ความงามประการแรกที่ใครหลาย ๆ คนคำนึงถึง คงไม่พ้นเมืองที่มีผังสวยที่สุดของประเทศไทย จากการที่เทศบาลนครยะลาได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเข้ารับการพิจารณาในส่วนของโซนเอเชียและแปซิฟิค เมื่อปี พ.ศ.2546 จนผ่านการตัดสินชนะเลิศจากกรรมการตัดสินชุดใหญ่ของ UNESCO ได้รับรางวัล UNESCO Cities และมีเว็บไซต์ชื่อดัง จัดอันดับ "ยะลา" ให้เป็นผังเมืองที่ดีที่สุด อันดับที่ 23 ของโลกในปี 2560 และนับได้ว่าเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย
.
การวางแผนผังเมืองมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เป็นเครื่องมือหนึ่งในฐานะกฎหมายที่มีบทบาทในการกำหนดประเภทการที่ดินและกิจกรรมต่าง ๆของมนุษย์ และเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาในอนาคตอีกด้วย หากไม่มีการวางผังเมืองก็จะทาให้เกิดปัญหาต่างๆ กับเมือง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเจริญเติบโตอย่างไร้ทิศทางของเมือง ปัญหาชุมชมแออัด ปัญหาทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัญหาการป้องกันภัยธรรมชาติ และยังยากต่อการวางแผนนโยบายการพัฒนาต่อยอด เมืองในอนาคตอีกด้วย
.
วางผังเมืองก่อนจะเป็นเมือง : เมืองยะลา เป็นหนึ่งในไม่กี่เมืองใหญ่ในประเทศไทยที่มีการวางผังเมืองตั้งแต่ก่อนเริ่มก่อร่างสร้างเมือง สมัยที่ชุมชนเมืองยะลายังเป็นชุมชนขนาดเล็กเกาะตัวอยู่ใกล้สถานีรถไฟ รายล้อมด้วยสวนยางและป่าไม้ การตัดถนนจึงดำเนินการไปในพื้นที่สวนและป่าเป็นส่วนใหญ่ จุดเริ่มต้นของการวางผังเมืองยะลา การวางผังเมืองยะลานั้นริเริ่มโดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) อดีตข้าหลวงคนที่ 10 ของจังหวัดยะลา (พ.ศ.2456-2458) ซึ่งเมื่อลาออกจากราชการแล้วได้รับสมัครเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีเมืองยะลาถึงสองสมัย (พ.ศ.2480-2488)
.
พระรัฐกิจวิจารณ์ได้ร่วมกับสหาย ข้าราชการ วางผังเมืองยะลาโดยได้รับการเสนอแนะจากแผนกผังเมือง กรมโยธาเทศบาล วางผังเมือง ยะลา โดยเรียกว่า ผังเค้าโครงเมืองยะลา ปี 2485 โดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) มีการวางแผนการกำหนดพื้นที่การใช้ที่ดินในเขตเมือง และการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ภายในเมือง ในการริเริ่มดำเนินงาน พระรัฐกิจวิจารณ์และสหายข้าราชการ ได้ร่วมกันหาศูนย์กลางของเมืองแล้วจึงปักหลักก้อนใหญ่และมีก้อนหินไว้เป็นเครื่องหมาย ซึ่งภายหลังได้เป็นที่ตั้งของศาลหลักเมือง และได้วางแผนผังเมืองเป็น วงเวียนรอบศูนย์กลางเมือง ทั้งสิ้น 3 วง โดยเตรียมที่ดินในบริเวณนี้ไว้เป็นสถานที่ราชการ คือ บริเวณวงในสุด เป็นสถานที่ราชการต่าง ๆ เช่น ศาลากลาง จังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานที่ดิน สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย วงเวียนที่สอง คือ บ้านพักข้าราชการ และวงเวียนที่สาม ซึ่งเป็นวงเวียนสุดท้ายเป็นที่ตั้งของ โรงเรียน สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล และที่อยู่อาศัยของประชาชน
.
มีการสร้างถนนเข้ามายังศูนย์กลางเมืองที่เรียกว่า กิโลศูนย์ และตัดถนนสายต่าง ๆ กว่าทั่วทั้งเมืองยะลา ถนนพิพิธภักดี เริ่มจากสถานีรถไฟยะลาไปยังกิโลศูนย์ ถนนสุขยางค์ จากหอนาฬิกาไปถึงกิโลศูนย์ ถนนสิโรรสจากสถานีรถไฟยะลาถึงหน้าโรงพยาบาล ปัจจุบันถนนพิพิธภักดีและถนนสิโรรสเป็นถนนสายเอกของเทศบาลเมือง มีความสวยงาม ถนนพิพิธภักดี ซึ่งเป็นถนนคู่ มีทางเดินเท้าและช่องทางจักยาน และปลูกต้นประดู่เรียงรายไว้ตามเกาะกลาง และมีการตัดถนนสายย่อย ๆเป็นรูปสี่เหลี่ยมหมากรุก ได้แก่ ถนนยะลา ถนนไชยจรัส ถนนรัฐกิจ ถนนประจิน ถนนพังงา และถนนรวมมิตร เป็นต้น การตัดถนนเหล่านี้ได้ยึดหลักเกณฑ์ที่ว่าในการวางผังเมืองและตัดถนนได้แบ่งตัดซอยให้หลังบ้านชนกันแต่ห่าง 4 เมตร สำหรับ เป็นที่วางขยะ ถังขยะและสะดวกต่อการดับเพลิง
.
กำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินไว้ตั้งแต่แรกเริ่ม : ผังเค้าโครงเมืองยะลา ปี 85 โดยพระรัฐกิจวิจารณ์ (สวาสดิ์ ณ นคร) ซึ่งถือว่า เป็นการวางแผนผังเมืองยุคแรกๆ ของประเทศไทยนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า พระรัฐกิจวิจารณ์ ไม่ได้เน้นเพียงแค่รูปแบบที่มี ความสวยงามของ ผังเมืองเท่านั้น แต่ยังได้จัดสรร จัดประเภทการใช้ที่ดินเข้าเป็นหมวดหมู่เดียวกัน โยการกำหนดรูปแบบ และการใช้ที่ดินในเมืองยะลา แบ่งไว้อย่างชัดเจน เป็น 6 ประเภท ซึ่งเป็นแนวทางในการต่อยอดพัฒนาเมืองเรื่อยมาจนถึง ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้
.
ประเภทที่ 1 พื้นที่สถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ พื้นที่สถาบันราชการของเมืองยะลานั้นจะวางอยู่ บริเวณศาลหลักเมือง และวงเวียนหลักทั้งสามวงเวียน และถนนสิโรรส
.
ประเภทที่ 2 พื้นที่โล่งและนันทนาการ และการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เมืองยะลานั้นได้รับสมญานามว่า เมืองแห่งสวน ซึ่งทั่วทั้งเมืองยะลา ประกอบด้วยสวนและนันทนาการต่าง ๆ ดังนี้
• สวนขวัญเมือง (พรุบาโกย) สร้างบนพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 207 ไร่ ประกอบด้วย สวน สนามกีฬา สนามแข่งขันนกเขาชวาเสียง ซึ่งเป็นสนามมาตรฐานที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ และชายหาดจำลอง
• สวนศรีเมือง เป็นสวนที่สร้างเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์และคันกั้นน้าริมแม่น้ำปัตตานี เริ่มต้นจาก บริเวณตลาดเมือง ใหม่ถึงบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟ เป็นระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร สร้างแล้ว เสร็จปี พ.ศ. 2546
• สวนสาธารณะบ้านร่ม แหล่งพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำบ้านสะเตง เป็นอีกหนึ่งสวนสาธารณะใจกลาง เมืองของเทศบาลนครยะลา ประกอบด้วยต้นไม้นานาพรรณและศาลาริมน้ำรูปทรงที่มีเอกลักษณ์ของ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
• สวนสาธารณะสนามช้างเผือก (สนามโรงพิธีช้างเผือก) มีพื้นที่ 80 ไร่ เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีน้อมเกล้าฯ ถวายช้างเผือก "พระเศวตสุรคชาธาร" แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2511 ภายในสวนสาธารณะมีศาลากลางน้ำ รูปปั้นสัตว์ต่าง ๆ และสนามกีฬาในร่มขนาดใหญ่ที่ใช้จัดกิจกรรม ต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ
• สวนมิ่งเมือง สวนกิจกรรมเพื่อเยาวชนประกอบไปด้วยสวนย่อย ๆ 4 สวน ได้แก่ สวนมิ่งเมือง หรือ บาโร๊ะบารู 1-4 สวนสาธารณะมิ่งเมืองมีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร โดยสวนมิ่งเมือง 4 เป็นสวนที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ภายในสวนประกอบด้วย สนามฟุตบอลหญ้าเทียม และสนามเด็กเล่น
• ศูนย์เยาวชนยะลา ประกอบไปด้วยสนามขนาดใหญ่เพื่อใช้รองรับการจัดงานสำคัญๆระดับจังหวัด ซึ่งในยาม ปกติชาวเมืองยะลาจะใช้เล่นฟุตบอล ออกกำลังกาย และยังเป็นที่ตั้งของศูนย์ฟิตเนสของเทศบาล นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของ อุทยานการเรียนรู้ยะลา (TK PARK YALA) ซึ่งเป็นอุทยานการเรียนรู้แห่งแรกในส่วนภูมิภาค
• สนามกีฬาชุมชนจารู เป็นที่ตั้งของสนามฟุตบอลหญ้าเทียมขนาดมาตรฐานแห่งเดียวในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีสเตเดียม ถือว่าเป็นสนามกีฬาที่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขันกีฬาทั้งในระดับจังหวัด และภูมิภาค
• บึงแบเมาะ บึงแบเมาะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณชุมชนตลาดเก่า ติดกับเขาตูม และค่าย สิรินธร บึงแบเมาะถือว่าเป็นบึงที่มีความสำคัญของเมือง ในฐานะเป็นพื้นที่แก้มลิงรับน้ำขนาด ใหญ่ และนอกจากนี้ทางเทศบาลยังมีนโยบายพัฒนาบึงให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และนันทนาการ
.
ประเภทที่ 3 พื้นที่พาณิชยกรรม ตั้งรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน โดยมีถนนสายสำคัญๆ ของเมืองล้อมรอบ ได้แก่ ถนนสิโรรส ถนนพิพิธภักดี ถนนสุขยางค์ โดยชาวยะลามักเรียกพื้นที่พาณิชยกรรมว่า “สายกลาง” นอกจากนี้ เมืองยะลายังมีตลาดขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง ได้แก่ ตลาดเมืองใหม่ ตลาด สดผังเมืองสี่ ตลาดนัดเสรี ตลาดเช้า และตลาดหลังสถานีรถไฟบริเวณถนนวิฑูรอุทิศ ย่านตลาดเก่ากระจายอยู่ทั่วทุกมุมเมือง
.
ประเภทที่ 4 พื้นที่ที่อยู่อาศัย เป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมือง ซึ่งประชากรจะอาศัยอยู่ หนาแน่นบริเวณเขตพาณิชยกรรม และลดลงเรื่อยๆ จนกระทั้งกระทั้งเข้าพื้นที่เมืองสะเตงนอก โดยพื้นที่ ประชากรหนาแน่นน้อย (สีเหลือง) จะล้อมรอบพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม)
.
ประเภทที่ 5 พื้นที่เกษตรกรรม อยู่บริเวณขอบนอกของเมือง และประเภทที่ 6 พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ตลาดเก่า และถนน เทศบาล 1 โดยพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้านั้นพบได้น้อยมากในเขตเมืองยะลา
รู้จัก เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระราชนัดดาองค์เล็กสุดของควีน เอลิซาเบธที่ 2
หลังจากที่เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าชายแฮรี่ นำขบวนพระราชนัดดาอีก 6 พระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 เข้าพิธีประทับยืนสงบนิ่งเฝ้าหีบพระบรมศพ ณ เวสต์มินส์เตอร์ ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน ในวันที่ 17 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สาธารณชนชาวอังกฤษได้จับตามองมาที่ เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ และพระราชนัดดาองค์เล็กสุดของควีน เอลิซาเบธที่ 2 เป็นพิเศษ
.
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ยังทรงพระเยาว์ วัยเพียง 14 ปี มีความน่าเอ็นดู แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความสงบนิ่ง สุขุมเกินวัย ในการประกอบราชพิธีสำคัญระดับชาติ ร่วมกับ พระญาติที่สูงกว่าทั้งวัยวุฒิ และยศถาบรรดาศักดิ์กว่าได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่ประทับใจชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากที่ได้ชมพิธีผ่านสื่อ
.
และทำให้ระลึกถึงอดีตเจ้าชายวิลเลียม ในวัย 15 พรรษา ในงานพิธีศพของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่จัดขึ้นในวันที 6 กันยายน พ.ศ. 2540 ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับ เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น อยู่ไม่น้อย
.
วันนี้ เรามาทำความรู้จัก เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระราชนัดดาองค์องค์น้อยที่กลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนอังกฤษในวันนี้กันดีกว่า
.
เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น มีชื่อจริงเต็มๆว่า "เจมส์ อเล็กซานเดอร์ ฟิลิป ธีโอ" และใช้นามสกุล "เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์" สื่อมวลชนมักเรียกชื่อแบบย่อว่า "เจมส์ วินเซอร์" ปัจจุบัน ดำรงพระยศเป็น "ไวส์เคาท์ เซเวิร์น" นับเป็นทายาทลำดับที่ 14 ของราชวงศ์อังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่เมืองเซอร์รีย์ บิดา คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นพระโอรสองค์สุดท้องของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 มารดา คือ ท่านหญิง โซฟี เฮเลน ไรนส์-โจนส์
.
ซึ่งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และ ท่านหญิง โซฟี มีธิดาองค์ต่อ คือ เลดี้ หลุยส์ อายุ 18 ปี และกำลังเข้าศึกษาต่อสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ที่ University of St. Andrews ในสกอตแลนด์ ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
.
ในช่วงวัยทารกของ เจมส์ วินเซอร์ เขากลายเป็นที่รักของคนในครอบครัวอย่างมาก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระบิดาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่า เจมส์เป็นเด็กทารกที่น่ารัก น่ากอดมากๆ และทั้งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และ ท่านหญิงโซฟี ก็ตั้งใจที่จะเลี้ยงบุตร ธิดา ให้เติบโตขึ้นอย่างเด็กๆทั่วไป ด้วยการขอพระราชทานอนุญาตจากควีน เอลิซาเบธที่ 2 ขอสละฐานันดร "เจ้าชาย" "เจ้าหญิง" ของบุตร ธิดาของท่าน รวมถึงให้ละคำนำหน้าชื่อด้วยอักษรย่อ "H.R.H" ( His Royal Highness) ที่ใช้นำหน้าชื่อพระบรมวงศานุวงศ์ระดับเจ้าฟ้า
.
ซึ่งท่านหญิงโซฟี ผู้เป็นมารดาให้เหตุผลว่า ต้องการเลี้ยงลูกๆ ให้เติบโตพร้อมตระหนักในหน้าที่ว่าจำเป็นต้องประกอบสัมมาชีพเพื่อดูแลครอบครัวให้ได้เหมือนคนทั่วไป ส่วนฐานันดรศักดิ์ จะให้สิทธิลูกๆ เป็นคนตัดสินใจเองเมื่อบรรลุนิติภาวะ แต่ทั้งนี้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดำรงพระอิสริยยศเป็นเอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางของอังกฤษที่มีการสืบทอดทายาทได้ ดังนั้น เจมส์ วินเซอร์ จึงได้รับตำแหน่งเป็น "ไวส์เคาท์ เซเวิร์น" ในฐานะที่เป็นทายาทของเอิร์ล นั่นเอง
.
ปัจจุบัน เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น ศึกษาในโรงเรียน Eagle House School ที่ตั้งอยู่ภายในราชมณฑลบาร์กเชอร์ และช่วงเวลาที่ผ่านมา เจมส์ วินเซอร์ แทบไม่เคยเปิดเผยตนออกสื่อในอังกฤษ จึงทำให้ชาวอังกฤษไม่คุ้นหน้าของพระราชนัดดาองค์เล็กพระองค์นี้นัก แม้ว่า ไวส์เคาท์ เซเวิร์น และ เลดี้ หลุยส์ จะร่วมงานพิธีสำคัญของราชวงศ์หลายงาน อาทิ งานอภิเษกสมรสของเจ้าชายแฮรี่ และ เมแกน มาร์เคิล หรืองานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2
เปิดใจสาวพิการตัวเล็กบุรีรัมย์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เศรษฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เผยตั้งความหวังอยากรับปริญญาตั้งแต่เด็ก พ่อ แม่ เพื่อนๆ เป็นแรงใจจนประสบผลสำเร็จ
.
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ได้เดินทางไปพบ นางสาววราภรณ์ สร้อยเสน หรือน้องหมิว อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/3 หมู่ 3 ต.ทุ่งวัง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่สวมครุยเพื่อเตรียมตัวเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17-26 กันยายน 2565 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ โดยในวันนี้ เป็นการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปริญญาเอก โท ตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ จำนวน 4,525 คน ที่หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
.
นางสาววราภรณ์ สร้อยเสน หรือน้องหมิว เปิดเผยว่า ตนเกิดมาไม่สมประกอบ มีความพิการที่ขาและนิ้วมือ โดยมีความสูงเพียง 92 ซม. อยู่ที่บ้านกับบิดา มารดา น้องชายและน้องสาวรวม 5 ชีวิต ในสมัยที่ตนเป็นเด็ก ได้เห็นข่าวการรับปริญญาจึงเกิดความฝันว่าตัวเองก็อยากรับปริญญาบ้าง แต่จากข้อจำกัดทางด้านร่างกายและสุขภาพ ทางบ้านจึงบอกให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องไปเรียน ซึ่งตนเชื่อว่าไปเรียนได้ มารดาก็เลยไปส่งเข้าเรียนชั้นอนุบาล ก็ได้เพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ไปรับ - ส่ง ไปโรงเรียนบางครั้งก็ได้พ่อและแม่เป็นแขนขาให้ ซึ่งด้วยความรบเร้าอยากเรียนต่อ ทางบ้านจึงยินยอมให้ไปเรียน จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และคิดว่าทำอย่างไรจะได้รับพระราชทานปริญญาเหมือนเช่นคนอื่นตามที่ได้ตั้งใจไว้ ซึ่งก็รบเร้ากับมารดาอีกจนท่านใจอ่อน จากนั้นได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ แต่แม่ไม่มีเงินส่งให้เรียน ความฝันว่าจะได้เรียนก็พังสลายลง
.
น้องหมิว เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า ตนกลับไปนอนคิดอยู่หลายตลบ สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเขียนจดหมายไปถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานทุนการศึกษา ซึ่งตอนนั้นได้แต่ภาวนาให้จดหมายไปถึงสำนักราชเลขาธิการ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงพระประชวร แต่ต่อมาก็ได้รับหนังสือตอบกลับจาก กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ระบุว่า”จะส่งเรียนจนจบระดับปริญญา”ความรู้สึกตอนนั้นดีใจจนบอกไม่ถูก รู้ซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้
ชวนชมนิทรรศการ “ช้างมงคล” จากตำราคชศาสตร์ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ
กรมศิลปากรโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการเรื่อง “ช้างมงคล” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างจากเอกสารโบราณ
.
ข้อมูลนิทรรศการสังเขป ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาแต่โบราณกาล แม้โดยธรรมชาติช้างเป็นสัตว์ป่ารูปร่างใหญ่โตมีพละกำลังมากมายมหาศาล แต่ช้างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ มีอิริยาบถที่สง่างาม เฉลียวฉลาด แข็งแรง อดทน สามารถฝึกสอนให้เรียนรู้ได้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าแผ่นดินของไทยในสมัยโบราณ ทรงใช้ช้างเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญสำหรับกองทัพ โดยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลในการต่อสู้ขณะทำสงคราม ด้วยวิธีการชนกับช้างข้าศึก ใช้แทนกำลังทหารเพื่อทำลายประตูเมือง กำแพงเมือง ป้อม ค่าย บุกไล่ ทำลายทหารในกองทัพข้าศึก ใช้เป็นพาหนะบรรทุกปืนใหญ่ และสิ่งของเครื่องสรรพาวุธยุทโปกรณ์ รวมทั้งสัมภาระต่างๆ การศึกสงครามแต่ละครั้ง ช้างมีส่วนช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัย และขยายขอบเขตของอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป
.
เมื่อบ้านเมืองเลิกใช้ช้างเพื่อการศึกสงคราม อีกทั้งกรมพระคชบาลของหลวงก็เลิกล้มไป ความรู้เกี่ยวกับช้างจึงหมดความจำเป็นสำหรับกิจการบ้านเมือง เป็นเหตุให้ความต้องการอยากเรียนรู้เรื่องช้างหมดไปด้วย เมื่อขาดการสืบทอดผู้มีความรู้เรื่องช้างก็ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ปัจจุบันคนรักช้างได้พยายามฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับช้างมากขึ้น นับเป็นนิมิตอันดีอย่างยิ่งที่มรดกวัฒนธรรมของชาติชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งนี้ เริ่มได้รับความสนใจ มีความพยายามรื้อฟื้นให้มีการเผยแพร่และสืบทอด จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ เรื่อง “ช้างมงคล” มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
.
ส่วนที่ 1 นำเสนอความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในสมัยโบราณที่ใช้เรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ของช้าง
ส่วนที่ 2 จะเป็นความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดของช้างมงคลตามตำราคชศาสตร์ที่ปรากฏในเอกสารโบราณว่าช้างศุภลักษณ์ หรือช้างที่มีลักษณะมงคล พร้อมทั้งมีภาพประกอบจากเอกสารโบราณ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตระกูล คือ 1. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ 2. ช้างตระกูลพรหมพงศ์ 3. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ 4. ช้างตระกูลอัคนิพงศ์
ส่วนที่ 3 ทำเนียบนามช้างหลวงประจำรัชกาลในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๙ พร้อมจัดแสดงเอกสารโบราณที่บันทึกทำเนียบนามช้างสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์
ส่วนที่ 4 การเปรียบเทียบความแตกต่างลักษณะทางกายภาพและถิ่นฐานระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
ส่วนที่ 5 การนำเสนอสารคดีเรื่องช้างไทย และการเล่นเกมส์โชคช้าง เป็นการเสี่ยงทายจากตำราโบราณ เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมสนุก
.
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง “ช้างมงคล” ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ ห้องวชิรญาณ 2 – 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ