ชวนชมนิทรรศการ “ช้างมงคล” จากตำราคชศาสตร์ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ
กรมศิลปากรโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการเรื่อง “ช้างมงคล” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างจากเอกสารโบราณ
.
ข้อมูลนิทรรศการสังเขป ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาแต่โบราณกาล แม้โดยธรรมชาติช้างเป็นสัตว์ป่ารูปร่างใหญ่โตมีพละกำลังมากมายมหาศาล แต่ช้างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ มีอิริยาบถที่สง่างาม เฉลียวฉลาด แข็งแรง อดทน สามารถฝึกสอนให้เรียนรู้ได้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าแผ่นดินของไทยในสมัยโบราณ ทรงใช้ช้างเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญสำหรับกองทัพ โดยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลในการต่อสู้ขณะทำสงคราม ด้วยวิธีการชนกับช้างข้าศึก ใช้แทนกำลังทหารเพื่อทำลายประตูเมือง กำแพงเมือง ป้อม ค่าย บุกไล่ ทำลายทหารในกองทัพข้าศึก ใช้เป็นพาหนะบรรทุกปืนใหญ่ และสิ่งของเครื่องสรรพาวุธยุทโปกรณ์ รวมทั้งสัมภาระต่างๆ การศึกสงครามแต่ละครั้ง ช้างมีส่วนช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัย และขยายขอบเขตของอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป
.
เมื่อบ้านเมืองเลิกใช้ช้างเพื่อการศึกสงคราม อีกทั้งกรมพระคชบาลของหลวงก็เลิกล้มไป ความรู้เกี่ยวกับช้างจึงหมดความจำเป็นสำหรับกิจการบ้านเมือง เป็นเหตุให้ความต้องการอยากเรียนรู้เรื่องช้างหมดไปด้วย เมื่อขาดการสืบทอดผู้มีความรู้เรื่องช้างก็ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ปัจจุบันคนรักช้างได้พยายามฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับช้างมากขึ้น นับเป็นนิมิตอันดีอย่างยิ่งที่มรดกวัฒนธรรมของชาติชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งนี้ เริ่มได้รับความสนใจ มีความพยายามรื้อฟื้นให้มีการเผยแพร่และสืบทอด จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ เรื่อง “ช้างมงคล” มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
.
ส่วนที่ 1 นำเสนอความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในสมัยโบราณที่ใช้เรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ของช้าง
ส่วนที่ 2 จะเป็นความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดของช้างมงคลตามตำราคชศาสตร์ที่ปรากฏในเอกสารโบราณว่าช้างศุภลักษณ์ หรือช้างที่มีลักษณะมงคล พร้อมทั้งมีภาพประกอบจากเอกสารโบราณ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตระกูล คือ 1. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ 2. ช้างตระกูลพรหมพงศ์ 3. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ 4. ช้างตระกูลอัคนิพงศ์
ส่วนที่ 3 ทำเนียบนามช้างหลวงประจำรัชกาลในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๙ พร้อมจัดแสดงเอกสารโบราณที่บันทึกทำเนียบนามช้างสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์
ส่วนที่ 4 การเปรียบเทียบความแตกต่างลักษณะทางกายภาพและถิ่นฐานระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
ส่วนที่ 5 การนำเสนอสารคดีเรื่องช้างไทย และการเล่นเกมส์โชคช้าง เป็นการเสี่ยงทายจากตำราโบราณ เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมสนุก
.
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง “ช้างมงคล” ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ ห้องวชิรญาณ 2 – 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ