Saturday, 19 April 2025
UTN Today

รู้จัก เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระราชนัดดาองค์เล็กสุดของควีน เอลิซาเบธที่ 2

หลังจากที่เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแห่งเวลส์ และเจ้าชายแฮรี่  นำขบวนพระราชนัดดาอีก 6 พระองค์ในสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธ ที่ 2 เข้าพิธีประทับยืนสงบนิ่งเฝ้าหีบพระบรมศพ ณ เวสต์มินส์เตอร์ ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน ในวันที่ 17 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา สาธารณชนชาวอังกฤษได้จับตามองมาที่ เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระโอรสองค์ที่ 2 ของเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์ และพระราชนัดดาองค์เล็กสุดของควีน เอลิซาเบธที่ 2 เป็นพิเศษ 
.
ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกที่ยังทรงพระเยาว์ วัยเพียง 14 ปี มีความน่าเอ็นดู แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีความสงบนิ่ง สุขุมเกินวัย ในการประกอบราชพิธีสำคัญระดับชาติ ร่วมกับ พระญาติที่สูงกว่าทั้งวัยวุฒิ และยศถาบรรดาศักดิ์กว่าได้อย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่ประทับใจชาวอังกฤษเป็นจำนวนมากที่ได้ชมพิธีผ่านสื่อ 
.
และทำให้ระลึกถึงอดีตเจ้าชายวิลเลียม ในวัย 15 พรรษา ในงานพิธีศพของเจ้าหญิงไดอาน่า ที่จัดขึ้นในวันที 6 กันยายน พ.ศ. 2540 ว่ามีความละม้ายคล้ายคลึงกับ เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น อยู่ไม่น้อย
.
วันนี้ เรามาทำความรู้จัก เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น พระราชนัดดาองค์องค์น้อยที่กลายเป็นจุดสนใจของสื่อมวลชนอังกฤษในวันนี้กันดีกว่า 
.
 เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น มีชื่อจริงเต็มๆว่า "เจมส์ อเล็กซานเดอร์ ฟิลิป ธีโอ" และใช้นามสกุล "เมานต์แบ็ตเทน-วินด์เซอร์" สื่อมวลชนมักเรียกชื่อแบบย่อว่า "เจมส์ วินเซอร์" ปัจจุบัน ดำรงพระยศเป็น "ไวส์เคาท์ เซเวิร์น" นับเป็นทายาทลำดับที่ 14 ของราชวงศ์อังกฤษ  เกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ที่เมืองเซอร์รีย์  บิดา คือ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ซึ่งเป็นพระโอรสองค์สุดท้องของสมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 2 มารดา คือ ท่านหญิง โซฟี เฮเลน ไรนส์-โจนส์ 
.
ซึ่งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และ ท่านหญิง โซฟี มีธิดาองค์ต่อ คือ เลดี้ หลุยส์ อายุ 18 ปี และกำลังเข้าศึกษาต่อสาขาวิชาภาษาอังกฤษ ที่ University of St. Andrews ในสกอตแลนด์ ในภาคการศึกษาฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ 
.
ในช่วงวัยทารกของ เจมส์ วินเซอร์ เขากลายเป็นที่รักของคนในครอบครัวอย่างมาก เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด พระบิดาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษว่า เจมส์เป็นเด็กทารกที่น่ารัก น่ากอดมากๆ และทั้งเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และ ท่านหญิงโซฟี ก็ตั้งใจที่จะเลี้ยงบุตร ธิดา ให้เติบโตขึ้นอย่างเด็กๆทั่วไป ด้วยการขอพระราชทานอนุญาตจากควีน เอลิซาเบธที่ 2 ขอสละฐานันดร "เจ้าชาย" "เจ้าหญิง" ของบุตร ธิดาของท่าน รวมถึงให้ละคำนำหน้าชื่อด้วยอักษรย่อ  "H.R.H" ( His Royal Highness) ที่ใช้นำหน้าชื่อพระบรมวงศานุวงศ์ระดับเจ้าฟ้า 
.
ซึ่งท่านหญิงโซฟี ผู้เป็นมารดาให้เหตุผลว่า ต้องการเลี้ยงลูกๆ ให้เติบโตพร้อมตระหนักในหน้าที่ว่าจำเป็นต้องประกอบสัมมาชีพเพื่อดูแลครอบครัวให้ได้เหมือนคนทั่วไป ส่วนฐานันดรศักดิ์ จะให้สิทธิลูกๆ เป็นคนตัดสินใจเองเมื่อบรรลุนิติภาวะ แต่ทั้งนี้ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ดำรงพระอิสริยยศเป็นเอิร์ลแห่งเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งขุนนางของอังกฤษที่มีการสืบทอดทายาทได้ ดังนั้น เจมส์ วินเซอร์ จึงได้รับตำแหน่งเป็น "ไวส์เคาท์ เซเวิร์น" ในฐานะที่เป็นทายาทของเอิร์ล นั่นเอง
.
ปัจจุบัน  เจมส์ วินเซอร์ ไวส์เคาท์ เซเวิร์น ศึกษาในโรงเรียน Eagle House School ที่ตั้งอยู่ภายในราชมณฑลบาร์กเชอร์  และช่วงเวลาที่ผ่านมา เจมส์ วินเซอร์ แทบไม่เคยเปิดเผยตนออกสื่อในอังกฤษ จึงทำให้ชาวอังกฤษไม่คุ้นหน้าของพระราชนัดดาองค์เล็กพระองค์นี้นัก แม้ว่า ไวส์เคาท์ เซเวิร์น และ เลดี้ หลุยส์ จะร่วมงานพิธีสำคัญของราชวงศ์หลายงาน อาทิ งานอภิเษกสมรสของเจ้าชายแฮรี่ และ เมแกน มาร์เคิล หรืองานฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

'น้องหมิว' สาวสูง 92 ซม. นักศึกษาทุน “พระพันปีหลวง” เกียรตินิยมอันดับ 2 เศรษฐศาสตร์บัณฑิต มรภ.บุรีรัมย์

เปิดใจสาวพิการตัวเล็กบุรีรัมย์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร  เศรษฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 จากสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เผยตั้งความหวังอยากรับปริญญาตั้งแต่เด็ก พ่อ แม่ เพื่อนๆ เป็นแรงใจจนประสบผลสำเร็จ
.
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า  ได้เดินทางไปพบ นางสาววราภรณ์ สร้อยเสน หรือน้องหมิว อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 10/3 หมู่ 3 ต.ทุ่งวัง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ที่สวมครุยเพื่อเตรียมตัวเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร สำหรับผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 17-26 กันยายน 2565 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ฯ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ โดยในวันนี้ เป็นการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปริญญาเอก โท ตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ จำนวน 4,525 คน ที่หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
.
นางสาววราภรณ์ สร้อยเสน หรือน้องหมิว เปิดเผยว่า ตนเกิดมาไม่สมประกอบ มีความพิการที่ขาและนิ้วมือ โดยมีความสูงเพียง 92 ซม. อยู่ที่บ้านกับบิดา มารดา น้องชายและน้องสาวรวม 5 ชีวิต ในสมัยที่ตนเป็นเด็ก ได้เห็นข่าวการรับปริญญาจึงเกิดความฝันว่าตัวเองก็อยากรับปริญญาบ้าง แต่จากข้อจำกัดทางด้านร่างกายและสุขภาพ ทางบ้านจึงบอกให้อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องไปเรียน ซึ่งตนเชื่อว่าไปเรียนได้ มารดาก็เลยไปส่งเข้าเรียนชั้นอนุบาล ก็ได้เพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ไปรับ - ส่ง ไปโรงเรียนบางครั้งก็ได้พ่อและแม่เป็นแขนขาให้ ซึ่งด้วยความรบเร้าอยากเรียนต่อ ทางบ้านจึงยินยอมให้ไปเรียน จนกระทั่งจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และคิดว่าทำอย่างไรจะได้รับพระราชทานปริญญาเหมือนเช่นคนอื่นตามที่ได้ตั้งใจไว้ ซึ่งก็รบเร้ากับมารดาอีกจนท่านใจอ่อน จากนั้นได้ไปสอบเข้ามหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ แต่แม่ไม่มีเงินส่งให้เรียน ความฝันว่าจะได้เรียนก็พังสลายลง
.
น้องหมิว เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า ตนกลับไปนอนคิดอยู่หลายตลบ สุดท้ายจึงได้ตัดสินใจเขียนจดหมายไปถึงสำนักราชเลขาธิการ เพื่อขอพระราชทานทุนการศึกษา ซึ่งตอนนั้นได้แต่ภาวนาให้จดหมายไปถึงสำนักราชเลขาธิการ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านทรงพระประชวร  แต่ต่อมาก็ได้รับหนังสือตอบกลับจาก กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ระบุว่า”จะส่งเรียนจนจบระดับปริญญา”ความรู้สึกตอนนั้นดีใจจนบอกไม่ถูก รู้ซึ้งถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้

ชวนชมนิทรรศการ “ช้างมงคล” จากตำราคชศาสตร์ โดยสำนักหอสมุดแห่งชาติ

กรมศิลปากรโดยกลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ จัดนิทรรศการเรื่อง “ช้างมงคล” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับช้างจากเอกสารโบราณ
.
ข้อมูลนิทรรศการสังเขป ช้าง เป็นสัตว์ที่มีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาแต่โบราณกาล แม้โดยธรรมชาติช้างเป็นสัตว์ป่ารูปร่างใหญ่โตมีพละกำลังมากมายมหาศาล แต่ช้างก็มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ มีอิริยาบถที่สง่างาม เฉลียวฉลาด แข็งแรง อดทน สามารถฝึกสอนให้เรียนรู้ได้ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าแผ่นดินของไทยในสมัยโบราณ ทรงใช้ช้างเป็นยุทโธปกรณ์สำคัญสำหรับกองทัพ โดยใช้ช้างเป็นส่วนหนึ่งของกำลังพลในการต่อสู้ขณะทำสงคราม ด้วยวิธีการชนกับช้างข้าศึก ใช้แทนกำลังทหารเพื่อทำลายประตูเมือง กำแพงเมือง ป้อม ค่าย บุกไล่ ทำลายทหารในกองทัพข้าศึก ใช้เป็นพาหนะบรรทุกปืนใหญ่ และสิ่งของเครื่องสรรพาวุธยุทโปกรณ์ รวมทั้งสัมภาระต่างๆ การศึกสงครามแต่ละครั้ง ช้างมีส่วนช่วยปกป้องรักษาบ้านเมืองให้พ้นภัย และขยายขอบเขตของอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป
.
เมื่อบ้านเมืองเลิกใช้ช้างเพื่อการศึกสงคราม อีกทั้งกรมพระคชบาลของหลวงก็เลิกล้มไป ความรู้เกี่ยวกับช้างจึงหมดความจำเป็นสำหรับกิจการบ้านเมือง เป็นเหตุให้ความต้องการอยากเรียนรู้เรื่องช้างหมดไปด้วย เมื่อขาดการสืบทอดผู้มีความรู้เรื่องช้างก็ลดจำนวนลงเป็นลำดับ ปัจจุบันคนรักช้างได้พยายามฟื้นฟูความรู้เกี่ยวกับช้างมากขึ้น นับเป็นนิมิตอันดีอย่างยิ่งที่มรดกวัฒนธรรมของชาติชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งนี้ เริ่มได้รับความสนใจ มีความพยายามรื้อฟื้นให้มีการเผยแพร่และสืบทอด จึงเป็นที่มาของการจัดนิทรรศการ เรื่อง “ช้างมงคล” มีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 
.
ส่วนที่ 1 นำเสนอความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในสมัยโบราณที่ใช้เรียกอวัยวะส่วนต่างๆ ของช้าง 
ส่วนที่ 2 จะเป็นความรู้เกี่ยวกับการกำเนิดของช้างมงคลตามตำราคชศาสตร์ที่ปรากฏในเอกสารโบราณว่าช้างศุภลักษณ์ หรือช้างที่มีลักษณะมงคล พร้อมทั้งมีภาพประกอบจากเอกสารโบราณ ซึ่งมีทั้งหมด 4 ตระกูล คือ 1. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์ 2. ช้างตระกูลพรหมพงศ์ 3. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์ 4. ช้างตระกูลอัคนิพงศ์ 
ส่วนที่ 3 ทำเนียบนามช้างหลวงประจำรัชกาลในราชวงศ์จักรี ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ - รัชกาลที่ ๙ พร้อมจัดแสดงเอกสารโบราณที่บันทึกทำเนียบนามช้างสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์  
ส่วนที่ 4 การเปรียบเทียบความแตกต่างลักษณะทางกายภาพและถิ่นฐานระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
ส่วนที่ 5 การนำเสนอสารคดีเรื่องช้างไทย และการเล่นเกมส์โชคช้าง เป็นการเสี่ยงทายจากตำราโบราณ เพื่อให้ผู้ที่เข้าชมนิทรรศการได้ร่วมสนุก
.
ผู้สนใจเข้าชมนิทรรศการหมุนเวียน เรื่อง “ช้างมงคล” ได้ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00 – 16.30 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 09.00 – 17.00 น. (หยุดวันนักขัตฤกษ์) ณ ห้องวชิรญาณ 2 – 3 อาคาร 2 ชั้น 1 สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ


TRENDING
© Copyright 2024, All rights reserved. UTN Today
Take Me Top